โรคร้ายทำลายหัวใจเด็ก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่วัคซีนหรือวิธีการป้องกันและเฝ้าระวัง ยังไม่สามารถป้องกันความปลอดภัยได้ 100% ท่ามกลางสถานการณ์ที่เชื้อโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งจากงานวิจัย พบว่า ผลกระทบของโรคนี้ ค่อนข้างคล้ายคลึงกันกับ โรคคาวาซากิ ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะระบบหัวใจ ทำให้หัวใจอักเสบ รวมไปถึง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน หรือโป่งพอง ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและไม่สามารถทำงานได้ตามปกตินั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองเล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จะต้องเฝ้าระวัง และป้องกันเด็กจากโรคโควิด 19 หรือโรค Kawasaki ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เพื่อให้ห่างไกลและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
1. ประเภทของโรคหัวใจในเด็ก
โรคหัวใจในเด็กนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือหัวใจพิการแต่กำเนิด พบว่าเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอด หรือในเด็กบางรายอาจจะตรวจพบเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้มีภาวะเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ผนังกั้นหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจชนิดซับซ้อนเป็นต้น และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง มักจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคคาวาซากิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคโควิด 19 ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นต้น
2. ลักษณะอาการที่เกิดความผิดปกติของหัวใจ
สำหรับในเด็กเล็กนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป แต่อาจจะอันตรายและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว สามารถสังเกตได้ง่ายๆ โดยจะมีสัญญาณเตือนให้ผู้ปกครองได้รับทราบ เช่น อาการหายใจหอบ เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย ใจสั่น หน้ามืด ซึ่งอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือในเด็กบางรายมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น ถ้าหากเด็กมีอาการเหล่านี้ไม่ควรเพิกเฉย ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
3. ความสำคัญของโรคโควิด-19
ที่มีผลกระทบต่อหัวใจ จากงานวิจัยพบว่า โรคโควิด-19 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่จะไม่มีอาการ เฉลี่ยแล้วประมาณ 16-50% ซึ่ง 90% มักอาการจะไม่รุนแรง แต่อย่าชะล่าใจไป เพราะมีบางส่วน ประมาณ 3-5% ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว รวมถึงเกิดภาวะการอักเสบหลายระบบร่วมกัน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ โรค Mis- C นั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะแทรกซ้อนนี้จะเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี หรือในผู้ป่วยที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
4. ความสำคัญของโรค Kawasaki
ที่มีผลกระทบต่อหัวใจ พบได้บ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีทุกเพศ เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจ และเกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิตฉับพลันได้เลยทีเดียว ลักษณะอาการคือจะมี ไข้มากกว่า 4-5 วัน มีผื่น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ปากและลิ้นแดง (Strawberry Tongue) ซึ่งลักษณะจะคล้ายกับโรค MIS-C ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งโรค ที่ควรเฝ้าระวังและป้องกันให้ได้มากที่สุด
จะเห็นได้ว่า โรคทำลายหัวใจเด็ก นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีโอกาสพบได้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด และยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จะต้องเฝ้าระวังลูกหลานกันเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง หรือมีโอกาสที่จะพบกับภาวะแทรกซ้อน ที่จะส่งผลกระทบต่อหัวใจของลูกน้อยนั่นเอง โดยเริ่มจากการปลูกฝังให้ลูกรู้จักดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ ล้างมืออย่างถูกวิธี เพื่อกำจัดวงจรของเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจาย รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่แออัด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของโรคระบาดต่างๆ สำหรับผู้ปกครองท่านไหนที่สังเกตว่า บุตรหลาน มีอาการสุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ให้รีบพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดโดยด่วน หากพบสิ่งผิดปกติจะได้ช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที และที่สำคัญแนะนำให้พาบุตรหลานไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวัง ให้ห่างไกลจากโรคร้ายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง