ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด 

พฤติกรรมต้องห้ามที่อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมในยุคปัจจุบันนี้พ่อแม่นั้นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับงานมาก จนบางครั้งอาจเผลอลืมให้ความสำคัญกับครอบครัวไปบ้าง ซึ่งคุณรู้หรือไม่ว่าทุกพฤติกรรมของคุณจะส่งผลต่อลักษณะนิสัยและการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาการของลูกโดยตรง วันนี้เราจึงรวบรวมพฤติกรรมต้องห้ามที่ถ้าหากคุณเคยทำอยู่บ่อยๆอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกดได้ สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกันได้เลย

ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด  1

1. พ่อแม่ขี้บ่น

เราจะสังเกตเห็นได้ว่าแทบจะทุกบ้านเลยที่มีลูกมักจะได้ยินเสียงบ่นของพ่อแม่แทบจะทุกเรื่อง แต่คุณทราบหรือไม่ว่าการบ่นลูกซ้ำๆบ่อยนั้นมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของลูกโดยตรง การบ่นเปรียบเสมือนการให้ลูกทำตามความคาดหวังของคุณ ยิ่งคุณบ่นมากเท่าไหร่ ยิ่งไปจำกัดการเรียนรู้ของลูกมากเท่านั้น การบ่นนั้นไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน จะยิ่งทำให้เขาไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบเท่าที่ควรและสุดท้ายเขาจะไม่เกิดความภูมิใจในตัวเองเลย ดังนั้นพ่อแม่คนไหนที่ขี้บ่นแนะนำให้ลดพฤติกรรมนี้ลง จะทำให้บ้านน่าอยู่ และจะทำให้คุณเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด  2

2. พ่อแม่อารมณ์แปรปรวน

อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกนั้นกลายเป็นเด็กเก็บกดได้ง่ายๆเลย เวลาอารมณ์ดีก็ใจดีแบบน่าใจหาย แต่ถ้าหากโมโหแล้ว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองให้คงที่ได้ จะส่งผลกระทบกับเด็กอย่างมาก ดังนั้นแนะนำว่า ถ้าหากอยู่กับลูก ให้คุณรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองให้คงที่ให้ได้มากที่สุด ถ้าหากคิดว่าไม่สามารถทำได้ให้เดินออกจากสถานการณ์ตรงนั้นทันที เพราะถ้าคุณระเบิดอารมณ์ใส่ลูก จะทำให้เขาซึมซับและกลายเป็นเด็กที่ขี้หงุดหงิดไปได้ง่ายๆเลย

ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด  3

3. พฤติกรรมการชอบเปรียบเทียบ

ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกนั้นกลายเป็นเด็กเก็บกดได้ในทันที โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีลูกหลายคนส่วนใหญ่แล้วเราจะพบเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มักเปรียบเทียบเด็กที่มีพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยที่ด้อยกว่าพี่น้องคนอื่น ไปเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่า จนอาจทำให้เด็กนั้นรู้สึกกดดันตัวเอง ต้องผลักดันให้ตัวเองมีความสามารถที่เท่าเทียมกับคนอื่นจนอาจกลายเป็นเด็กเก็บกดได้นั่นเอง ดังนั้นแนะนำว่าคุณควรปล่อยให้ลูกมีความคิดที่เป็นอิสระไม่นำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นเด็กที่มีความสามารถและมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน

ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด  4

4. การคิดและตัดสินใจแทนลูก 

ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกนั้นเกิดความรู้สึกอึดอัดใจจนกลายเป็นเด็กเก็บกดได้ เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นมีความหวังดีอยากให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุด อยากให้เขาเป็นเด็กที่ฉลาดสมวัย จึงมีการวางแผนชีวิตของเขา ช่วยเขาตัดสินใจเลือกในสิ่งดีๆกับลูก โดยไม่คำนึงเลยว่าลูกจะชอบหรือไม่ก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เขาไม่ได้ใช้ความคิดความสามารถของตนเองได้เท่าที่ควร ถ้าหากคุณตัดสินใจหรือบงการชีวิตลูกมากจนเกินไปจะทำให้เขาไม่กล้าที่จะตัดสินใจเลือกอะไรได้เองเลย ทำให้เขากลายเป็นเด็กขี้ขลาด ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และไม่มีความเป็นตัวของตนเอง

ห้ามพลาด 5 พฤติกรรมต้องห้าม ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด  5

5. พ่อแม่ที่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา

หลายคนคงสงสัยว่าการเล่นโทรศัพท์มือถือนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับการที่ลูกมีนิสัยเก็บกด ต้องบอกเลยว่าถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลาทั้งๆที่มีลูกนั่งอยู่ข้างๆ จะทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง เขาไม่สามารถที่จะแชร์ความรู้สึกนึกคิดให้กับพ่อแม่ได้รับรู้ จนกลายเป็นเด็กเก็บกด ในที่สุด และที่สำคัญถ้าหากคุณให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือคุณจะขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีงามกับลูกไปเลย ซึ่งคุณไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขได้ เพราะลูกเป็นเด็กแค่ครั้งเดียว ดังนั้นแนะนำว่าถ้าหากอยู่กับลูกให้คุณลดการเล่นโทรศัพท์มือถือจะดีที่สุด

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับ พฤติกรรมต้องห้ามที่อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายพฤติกรรมเลยที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางพฤติกรรมคุณอาจจะไม่ทันได้ให้ความสำคัญจนอาจกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มากถ้าหากสำรวจแล้วพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นให้คุณเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้คงที่สร้างบรรยากาศให้บ้านดูน่าอยู่มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูก ปล่อยให้เขามีความคิดที่เป็นอิสระโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นเลย ซึ่งรับรองเลยว่าลูกจะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพและมีความสุขมากคนหนึ่งอย่างแน่นอน

Facebook
Twitter